ประชุมและหารือการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)
วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ณ ห้องประชุมทีลอซู ศาลากลางจังหวัดตาก ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรจัดประชุมความร่วมมือโครงการยกระดับเศรษฐกิและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กับจังหวัดตาก โดยมีนาย วรานนท์ ยิ้มมงคล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้เกียรติเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ท้องถิ่นจังหวัดตาก นายอำเภอหรือผู้แทนทั้ง 8 อำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 24 ตำบลเป้าหมายเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบและวางแผนโครงการร่วมกัน โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและบริการวิชาการ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาลี ตระกูล ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการและจัดหารายได้ และผู้บริหารจากคณะต่างๆ เข้าร่วมประชุม
ในการจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน และวางแผนในการสร้างความร่วมมือและประสานประโยชน์ระหว่างส่วนราชการต่างๆ ทั้งหน่วยงานระดับจังหวัด ระดับท้องที่และระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลและส่งผลต่อประชาชนตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ตั้งไว้
สำหรับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้แก่พื้นที่โดยดำเนินโครงการแบบบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดตาก เพื่อพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน สังคม และเพื่อจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของจังหวัดตาก สำหรับการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่นั้น จะดำเนินการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนไปช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมตำบล ซึ่ง มหาวิทยลัยราชภัฏกำแพงเพชร ได้รับอนุมัติพื้นที่ในเขตจังหวัดตาก จำนวน 24 ตำบล โดยมี 2 กิจกรรม คือ 1.โครงการจ้างงานประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก 480 คน และ 2. การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ในแต่ละตำบล ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน และนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน กิจกรรมพัฒนาศักยภาพทางการเกษตรปลอดภัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นต้น
ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดขอบเขตภาระงานและกรอบการจ้างงาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ้างงานได้ภายในเดือนมกราคม พ.ศ.2564 นี้