มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร Kick off และส่งมอบผู้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ
หรือ University to Tumbon (U2T)
เริ่มแล้ว!!! มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร Kick off และส่งมอบผู้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ University to Tumbon ; U2T ลงพื้นที่
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วงษ์บุญมากอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร เปิดเผยว่าหลังจากที่มหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการรับสมัครบุคคลเพื่อจ้างงาน เป็นผู้ปฏิบัติงานในโครงการ ในพื้นที่ 60 ตำบล โดยมีจังหวัดกำแพงเพชร 36 ตำบลและจังหวัดตาก 24 ตำบล จำนวนกว่า 1200 คน (ตำบลละ 20 คน ประกอบด้วย ประชาชนทั่วไป 300 คน บัณฑิตจบใหม่ไม่เกินสามปี 600 คน และนักศึกษา 300 คน) โดย มหาวิทยาลัยฯ ได้ทำการปฐมนิเทศผู้ปฏิบัติงานไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับผู้ปฏิบัติงาน 18 คนแรกของแต่ละตำบลจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา เป็น PM (Project Manager) ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ระดมคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนทั้งสิ้นกว่า 120 คน โดยในแต่ละพื้นที่จะร่วมกับผู้บริหารโครงการจากหน่วยงานในพื้นที่ เป็น AM (Area Manager) เพื่อช่วยกันออกแบบและขับเคลื่อนกิจกรรมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ตามศักยภาพของแต่ละชุมชน ที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ในมิติอื่น ๆ เช่นด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมความรักความสามัคคีในชุมชน เป็นต้น สำหรับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล ที่มหาวิทยาลัยได้จัดส่งผู้ปฏิบัติงาน KPRU U2T ไปปฏิบัติงานประจำ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ตำบล (ทต. ทม. ทน. อบต.) ที่ทำการปกครองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด/อำเภอ เกษตรอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ตชด. ทั้งในส่วนของจังหวัดกำแพงเพชรและตาก จำนวน กว่า 100 หน่วยงาน
ส่วนผู้ปฏิบัติงานอีก 2 คน รวมทั้งสิ้น 120 คน เราเรียกว่า “นักจัดการข้อมูลดิจิตัลภาครัฐ” จะถูกส่งตัวไปยังหน่วยงานความร่วมมือ ที่จะไปดำเนินการจัดทำข้อมูลของส่วนราชการเป็นข้อมูลดิจิตัล (Digitalizing Government Data) โดยในส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ , สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ , สำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขา , สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และในส่วนของจังหวัดตาก ประกอบด้วย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ ของจังหวัดตาก รวมทั้งสิ้น 48 หน่วยงาน
โดยหลังจากที่ได้มีการปฐมนิเทศสร้างความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการและแนวทางการดำเนินงานแล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละพื้นที่ หรือ PM ได้เริ่มปฏิบัติการนำผู้ปฏิบัติงานไปส่งมอบและสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือให้โครงการได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยผู้ปฏิบัติงานจะปฏิบัติงานประจำ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ หรือบางตำบลอาจกระจายไปอย่างหน่วยงานอื่น โดยมีเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 11 เดือน นับเป็นโครงการสำคัญที่จะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทั้ง 76 แห่ง ได้ปฎิบัติภารกิจในการสร้างรากแก้วให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป