การจัดทำแผนกลยุทธ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่น
ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏและภาคีเครือข่ายกลุ่มภาคเหนือ ด้วยกระบวนการ Design Thinking
วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนกลยุทธ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏและภาคีเครือข่ายกลุ่มภาคเหนือ ด้วยกระบวนการ Design Thinking โดยมี อาจารย์ ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ ประธานผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคเหนือ เป็นประธานในพิธี อาจารย์ ดร.สุภาพร พงศ์ภิญโญโอภาส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม
การอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนกลยุทธ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมคุรุร่มสัก อาคารคณะครุศาสตร์ ซึ่งมีผู้วิจัยและคณาจารย์เข้าร่วมการอบรมจำนวน 54 คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคเหนือประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้าร่วมการอบรม ได้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีปณิธานที่มุ่งเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาคนและสิ่งแวดล้อม โดยในกลุ่ม มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ 8 แห่ง ได้ทำความร่วมมือในการยกร่างงานวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวในภาคเหนือ จากการรวมตัวของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ พบว่า ภาคเหนือมีทรัพยากรธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมที่สามารถเชื่อมโยงรวมกันได้ คือ “แม่น้ำสายหลักของภาคเหนือและประเทศไทย” ประกอบด้วย แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน จากความสำคัญของ“แม่น้ำสายหลักของภาคเหนือและประเทศไทย” จึงได้ศึกษาและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามเส้นทางวิถีสายน้ำบนฐานประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลักและสาขา 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน บนฐานอัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมสายน้ำ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์นิเวศวิทยาวัฒนธรรม อาหารพื้นถิ่น และชาติพันธุ์เพื่อเพิ่มมูลค่าชุมชนโดยการสร้างสรรค์ กิจกรรมการท่องเที่ยว โปรแกรมนำเที่ยว และผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อรองรับการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาให้เป็น ชุมชนต้นแบบเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการท่องเที่ยว รวมถึงการเชื่อมโยงสู่การเป็นพื้นที่รองรับการกระจายการเดินทางจากเมืองหลักเข้าสู่เมืองรองและชุมชนครอบคลุมพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ระบบกลไกการบริหารจัดการงานวิจัยและพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือกับพื้นที่เป้าหมาย