โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการทำผลงานทางวิชาการเป็นหมู่คณะ
พบคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามสาขาวิชา/ศาสตร์เฉพาะ
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยงานการงานเจ้าหน้าที่และนิติกร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการทำผลงานทางวิชาการเป็นหมู่คณะ พบคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามสาขาวิชา/ศาสตร์เฉพาะ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช พรหมภาษิต รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ ณ ห้องประชุมสุพรรณิการ์ ชั้น 3 อาคารกิจการนักศึกษา (SAC)
การจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการทำผลงานทางวิชาการเป็นหมู่คณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมให้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรได้เสนอข้อกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่ต้องการให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัย ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ร้อยละ 60 ภายในระยะเวลา 2 ปี
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้เรียนเชิญประธานและคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มาเป็นคณะวิทยากร โดยมีรายนามดังนี้
1.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชุติมา สัจจานันท์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (สาขามนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ)
2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สิริวรรณ ศรีพหล (สาขาครุศาสตร์ หรือการสอน)
3.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ (สาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ การพัฒนาชุมชน)
4.ศาสตราจารย์ ดร.สำเริง จักรใจ (สาขาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และพยาบาลศาสตร์)
5.ศาสตราจารย์ว่าที่ร้อยโท ดร.พิชัย สดภิบาล (ผลงานที่รับใช้ท้องถิ่นและสังคม)
6.ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ (สาขาบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า เป็นนิมิตรหมายอันดีของมหาวิทยาลัย ที่ท่านประธานและคณะกรรมการ ก.พ.ว. มีแนวทางที่จะให้มหาวิทยาลัยมีความชัดเจนมากขึ้นในการทำผลงานทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่จะพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นผลงานทางวิชาการที่เราจะต้องผลิตขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ ก็จะต้องมีผลงานที่จะไปส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประเทศ ซึ่งในกลุ่มที่ 3 ก็จะมีเรื่องของตำแหน่งทางวิชาการรับใช้ท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ เกณฑ์นี้มีมานานแล้ว แต่ด้วยความที่มหาวิทยาลัยยังไม่มีความชัดเจนว่าเราจะดำเนินการอย่างไรนั้น ซึ่งเราได้รับความอนุเคราะห์จากท่านประธานและคณะกรรมการ ก.พ.ว. เล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยจะต้องสนับสนุนให้อาจารย์ขอตำแหน่งทางวิชาการด้านการรับใช้สังคม เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรทำงานเกี่ยวกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงอยากให้อาจารย์ที่ทำงานด้านนี้ สามารถที่จะขอผลงานทางวิชาการด้านรับใช้สังคมท้องถิ่นได้